= พลาสติกย่อยสลายได้ ตอนที่ ๒ =

ในตอนที่ผ่านมาผมได้ทิ้งท้ายไว้ที่คำศัพท์สามคำที่เป็นประเภทของพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่พบเห็นในบ้านเรา คือ biodegradable plastic, compostable plastic และ OXO-biodegradable plastic

ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพนี้ ไม่ว่าจะทิ้งที่ไหนหรือไปตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน พอเวลาผ่านไปมันก็จะย่อยสลายไปเอง ผมเองก็เข้าใจแบบนั้นในตอนแรก

พอได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมถึงได้รู้ว่า พลาสติกชนิดเดียวกันนั้นถ้าตกเป็นขยะในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันอาจจะย่อยสลายได้ดีในที่หนึ่ง แต่อาจไม่ย่อยเลยในอีกที่หนึ่งก็ได้

ปัจจัยที่ทำให้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพเกิดการย่อยสลายนั้นประกอบด้วย โครงสร้างทางเคมีของพลาสติก, ชนิดของจุลินทรีย์ และสภาพแวดล้อม

พลาสติกชิ้นหนึ่งเมือกลายเป็นขยะอาจไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ เช่น บ่อฝังกลบขยะ โรงหมักปุ๋ย บ่อบำบัดน้ำเสีย ถูกฝังในดิน หรือกระจายไปในแหล่งน้ำจืด ทะเล

ตรงนี้แหละที่สำคัญ ตัวอย่างเช่นเราจะต้องรู้ว่า ถ้าเราใช้ถุงขยะแบบ compostable plastic ที่ทำมาจาก PLA (Polylactic acid)​ เราต้องใส่แต่ขยะอินทรีย์และการกำจัดที่ถูกต้องคือนำไปหมักที่โรงหมักปุ๋ย พลาสติกประเภทนี้ถึงจะย่อยสลายได้ดี แต่ถ้านำไปทิ้งในบ่อฝังกลบขยะ มันอาจจะไม่ย่อยก็ได้

ผมเคยเห็นถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะ ต่างยี่ห้อกัน ยี่ห้อหนึ่งเขียนว่า biodegradable ในขณะที่อีกยี่ห้อหนึ่งเขียนว่า OXO-biodegradable

และเคยเห็นถุงพลาสติกหูหิ้วต่างยี่ห้อกัน ยี่ห้อหนึ่งใช้คำว่า compostable ในขณะที่อีกยี่ห้อใช้ว่า biodegradable

เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมากสำหรับผมที่ไม่เห็นมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการออกมาให้ความรู้กับประชาชนว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเหล่านั้นต่างกันอย่างไร แท้จริงแล้วควรใช้แบบไหนกันแน่

บทความตอนหน้าที่เป็นตอนจบ ผมจะมาให้ข้อสรุปที่เกิดจากความคิดวิเคราะห์ของผมเอง

Leave a comment