= พลาสติกย่อยสลายได้ ตอนที่ ๑ =

ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาที่บล็อกนี้ทราบว่า PLUSSTI คือโครงการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมลดก่อขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

แล้วทำไมมาพูดเรื่องพลาสติกย่อยสลายได้

ประสบการณ์ตรงของตัวผมเอง ทุกวันนี้จะมีขยะพลาสติกหนึ่งชิ้น คือ ถุงใส่ขยะอาหาร

จริงๆ แล้วผมกำลังหาหนทางเรื่อ​งการจัดการขยะอินทรีย์สำหรับชุมชนเมืองที่อยู่อาศัยตามคอนโด อพาร์ทเมนต์อยู่ เรื่องนี้ถ้าโครงการคืบหน้าอย่างไรคงได้มาเล่าสู่กันฟังในลำดับถัดไปครับ

กลับมาที่ถุงขยะใส่เศษอาหาร ผมเลือกที่เขียนว่า biodegradable พอมองดูในชั้นวางขายมีอีกประเภทเขียนว่า OXO-biodegradable

เริ่มสับสนแล้ว ใช่หรือไม่ครับ

ผมค้นหาข้อมูลต่อไป ยังเจอคำศัพท์ใหม่ๆ อีก เช่น compostable bioplastic

ยิ่งหาข้อมูลยิ่ง งง! โชคดีว่าไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งในงาน A-PLAS ๒๐๑๘ ชื่อ พลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อสิ่งแวดล้อม เขียนโดย ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)​ จึงรีบซื้อมาอ่านและมาเล่าสู่กันฟังในบทความ พลาสติกย่อยสลายได้นี้ โดยจะมีทั้งหมดสามตอน

ตอนแรกนี้จะมาทำความเข้าใจกับศัพท์แสงต่างๆ ที่เกริ่นมาก่อนหน้านี้

เริ่มจาก พลาสติกย่อยสลายได้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า degradable plastic กลไกการย่อยสลายได้มีหลายแบบตั้งแต่ โดนแสงแดด โดนแรงกระทำ โดนสารเคมี และโดนจุลินทรีย์ย่อยสลาย

เท่าที่ผมอ่านแล้วจับความได้ พลาสติกย่อยสลายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า biodegradable plastic ส่วนพลาสติกย่อยสลายได้แบบอื่นๆ แค่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี เปลี่ยนรูป แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และผมว่ามันยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมอยู่

มีอีกคำหนึ่งคำว่า พลาสติกชีวภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า bioplastic อย่าสับสนกับ biodegradable plastic นะครับ

การเรียกพลาสติกว่าเป็น bioplastic นั้น มีกฎเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อนี้

หนึ่ง: ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ (ไม่ใช่ปิโตรเลียม)​ ซึ่งอาจไม่ย่อยสลายทางชีวภาพก็ได้ เช่น bio-PE, bio-PET สาเหตุที่อุตสาหกรรมหันมาใช้วัตถุดิบชีวภาพแทนปิโตรเลียมเพราะเรื่องราคาปิโตรเลียม, ความยั่งยืนของปิโตรเลียม และเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สอง: ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งอาจจะผลิตจากปิโตรเลียมก็ได้ เช่น PBAT, PBS, PCL

 

กลับมาที่เรื่องพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพหรือ biodegradable plastic ที่เป็นพระเอกของเรื่อง การย่อยสลายได้ทางชีวภาพนั้นหมายถึงว่าจะต้องมีจุลินทรย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

กลไลการย่อยของพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมีด้วยกันห้าแบบ

หนึ่ง: biodegradation
พลาสติกจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีเนื่องจากการย่อยของจุลินทรีย์ สิ่งที่ต้องระวังคือ กลไกนี้ควรเกิดการย่อยสลายที่สมบูรณ์ สะอาด ไม่เป็นพิษ ในช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมที่กำหนด

สอง: composting
พลาสติกเกิดการย่อยสลายทางชีวภาพจากกระบวนการหมัก พลาสติกจะเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีลักษณะคล้าย ฮิวมัส หรือดินดำ นำไปเป็นสารปรับปรุงดินสำหรับปลูกพืชได้ กลไกนี้เป็นการย่อยสลายพลาสติกที่ดีที่สุดและต้องทำในโรงคอมโพสต์หรือโรงหมักปุ๋ย

สาม: OXO-biodegradation กลไกนี้จะย่อยสลายสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกผ่านกระบวนการออกซิเดชั่นก่อนแล้วถึงจะย่อยสลายทางชีวภาพ

หลายๆ คนอาจเคยเห็นโพสต์ที่กล่าวถึง พลาสติกที่เป็น OXO-biodegradable ว่าน่าจะไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เหตุผลคือหบังจากขั้นตอนออกซิเดชั่นพลาสติกจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ง่ายต่อการกระจายสู่สิ่วแสดล้อม… อาจจะเป็นในท้องปลาสักตัวที่เรากำลังจะกินก็ได้

สี่: Hydro-biodegradation
ห้า: Photo-biodegradation
ทั้งสองแบบนี้มีกลไลการย่อยสลายสองขั้นตอนเช่นกัน ซึ่งผมว่าน่าจะก่อปัญหาแบบเดียวกับ OXO

 

ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่เห็นวางจำหน่ายในบ้านเราตอนนี้น่าจะเป็นพสาสติกที่ย่อยด้วยกลไกในข้อหนึ่งถึงสาม นั่นคือ

biodegradable plastic
compostable plastic​
OXO-biodegradable plastic

บทความในตอนแรกนี้ขอทิ้งท้ายไว้ที่คำศัพท์สามคำนี้ ในตอนถัดไปจะเข้าไปดูกันว่า พลาติกย่อยสลายทางชีวภาพ มันย่อยที่ไหน คงไม่ใช่ย่อยในโรงหมักปุ๋ยอย่างเดียวแน่นอน ที่เห็นๆ ก็ฝั่งกลบ… แล้วสภาวะแบบนั้นพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมันยังย่อยได้อยู่หรือเปล่า

ขอเขิญชวนมาเข้ากลุ่ม LINE SQUARE: plussti มาถกกันเรื่องนี้ครับ

Leave a comment